กันตรึมหรือโจ๊ะกันตรึม เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ เป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์, บุรีรัมย์, และศรีสะเกษ เป็นการละเล่นที่มีดนตรีประกอบ และถือว่าดนตรีมีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุด ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ตามประวัติแต่โบราณใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง รำคู่ และรำหมู่ ศิลปะการละเล่นนี้มีวิวัฒนาการจากการเล่นเพลงปฏิพากย์ในภาคกลาง
ในการเล่นกันตรึม, มีกลองที่เรียกว่า “กลองกันตรึม” เป็นหลัก เมื่อตีเสียงจะออกเป็นเสียง กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม การเล่นจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า, พระวิศวกรรม, ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน เล่นได้ทุกโอกาสไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล
ท่วงทำนองของเพลงกันตรึมมีกว่า 100 ทำนอง บทเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ดตั้งแต่เกี้ยวพาราสี, โอ้โลม, ชมธรรมชาติ, แข่งขันปฏิภาณ, สู่ขวัญ เล่าเรื่อง ฯลฯ
ส่วนคำร้องเป็นของชาวเขมรสูงที่มีในสามจังหวัด คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ การเล่นกันตรึมได้รับความนิยมมากในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ จากการสืบประวัติการเล่นกันตรึมไม่ค่อยได้รายละเอียดมากนัก ทราบแต่เพียงว่าการเล่นแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดมาแต่ขอม แต่เดิมการเล่นใช้สำหรับประกอบการบวงสรวง เวลามีการทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรมก็ใช้ดนตรีกันตรึม บรรเลงกันเป็นพื้นบ้าน ซึ่งต่างกันในจังหวะลีลาจะแตกต่างกันไปตามพิธีแต่ละงาน กล่าวคือ งานแต่งงานก็บรรเลงอย่างหนึ่ง งานศพอย่างหนึ่ง และเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงก็ต้องให้เหมาะสมกับงาน
องค์ประกอบของกันตรึม
สิ่งที่ประกอบรวมจนเป็นการละเล่นพื้นบ้านกันตรึม มีดังต่อไปนี้ :
1. เครื่องดนตรีครบชุด จะประกอบด้วย :
- กลองกันตรึม 2 ลูก
- ซอตัวเอก 1 คัน
- ปี่อ้อ 1 เลา
- ขลุ่ย 1 เลา
- ฉิ่ง 1 คู่
- กรับ 1 คู่
2. ผู้เล่น :
ผู้เล่นจะมีประมาณ 6-8 คน และมีนักร้องทั้งชายและหญิง โดยทั่ว ๆ ไป มักนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน แต่ถ้าเครื่องคนตรีไม่ครบตามที่กล่าวไว้ วงกันตรึมบางคณะก็อาจจะมีแค่ กลองกันตรึม 1 ลูก, ซอกันตรึม (ซอตัวเอก) 1 คัน, ฉิ่ง 1 คู่ ซึ่งก็จะมีนักดนตรี เพียง 4 คน และอาจจะมีนักร้องฝ่ายชายและฝ่ายหญิง อย่างละ 1 คน ซึ่งถ้าฝีมือคนเล่นซอมีความสามารถเป็นพิเศษ บรรเลงได้ไพเราะก็จะได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ถือว่าครบชุดเป็นวงดนตรีพื้นเมืองได้
3. การแต่งกาย :
แต่งกายตามประเพณีของท้องถิ่น ผู้หญิงสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าซิ่น และใช้สไบเฉียงห่มทับ ส่วนผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอวและพาดไหล่
จุดมุ่งหมายของการเล่นกันตรึม
- เล่นตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น เช่น ความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ ได้แก่ การทรงเข้าเข้าผี
- เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสงานมงคลต่าง ๆ เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวชนาค โกนจุก ทอดผ้าป่า และบุญกฐิน เป็นต้น
- เล่นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในงานประจำปี เช่น เฉลิมฉลองงานปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น
- เล่นเพื่อเป็นการรักษาศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมิให้สูญหาย
- เล่นเพื่อเป็นการส่งเสริมการแสดงทางด้านดนตรี เพราะถือว่า กันตรึมเป็นดนตรีที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ มีความไพเราะเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่น ๆ ในชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรในเขตภาคอีสานใต้ ซึ่ง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะงานแต่งงาน ถือว่าถ้าขาดดนตรีกันตรึม อาจจะทำให้งานแต่งไม่สมบูรณ์ได้